การแบ่งปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร


 

    ในกระบวนการกินและการย่อยอาหาร ปลวกจะไม่สามารถผลิตน้ำย่อยหรือเอนไซม์ออกมาย่อยอาหารได้เอง แต่จะต้องพึ่งจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยร่วมอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่น โปรโตซัว แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ให้ผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น cellulase และ lignocellulase ออกมาย่อย cellulose หรือ lignin ซึ่งเป็นองค์ประกกอบหลักของอาหารที่ปลวกกินเข้าไป ให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือสารประกอบในรูปที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ เราสามารถแบ่งปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

 

ปลวกชั้นต่ำ

   ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร จะอาศัยโปรโตซัว ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร

ปลวกชั้นสูง

   ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินดิน ซากอินทรีย์วัตถุ ไลเคน รวมถึงพวกที่กินเศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้เป็นอาหาร จะมี วิวัฒนาการที่สูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้อยู่ในสภาพนิเวศที่แห้งแล้งหรือขาดอาหารได้ดี โดยอาศัยจุลินทรีย์จำพวก bacteria หรือเชื้อราในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหารให้กับปลวก ซึ่งแบคทีเรียบางชนิด จะมีความสามารถในการจับไนโตรเจนจากอากาศ มาสร้างเป็นกรดอะมิโนที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ และบางชนิดสามารถสร้างเอนไซม์ที่ประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวได้ยากในสิ่งแวดล้อม ช่วยในการผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร