ปลวกมีการแบ่งเป็นวรรณะ (case) ต่างๆ ดังนี้


 

วรรณะสืบพันธุ์ (primary reproductive caste)

   ประกอบด้วยปลวกแม่รังหรือนางพญา (queen) และปลวกพ่อรัง (king) เป็นปลวกที่มีปีก อวัยวะเพศ และตารวมที่เจริญดี ใน 1 รัง จะมีแม่รังเพียง 1 ตัว แต่อาจมีพ่อรังได้หลายตัว แม่รังและพ่อรังจะอาศัยอยู่ในโพรงนางพญา (hollow royal chamber) ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของรังเพื่อปกป้องแม่รัง แม่รังมีขนาดใหญ่มากที่สุด ถ้าเทียบปลวกงานเป็นมนุษย์ แม่รังจะมีน้ำหนักมากถึง 10 ตัน (10,000 กก.) และมีอายุยืนยาว บางชนิดมีอายุถึง 50 ปี

   ในช่วงฤดูฝนจะมีการผลิตปลวกวรรณะสืบพันธุ์ที่เราเรียกกันว่าแมลงเม่า (alates)ออกมานับพันตัว เพื่อให้บินออกมาจับคู่ผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จจะสลัดปีกทิ้งและเดินตามกันเพื่อหาช่องว่างหรือรอยแตกภายในดิน หลังจากนั้นจะวางไข่ และสร้างรังใหม่ต่อไป ซึ่งในการวางไข่ครั้งแรกนี้จะสามารถวางไข่ได้น้อยมาก ประมาณ 20 ฟอง และจะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 7 วัน ทั้งพ่อรังและแม่รังจะช่วยกันเลี้ยงดูตัวอ่อนจนเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นปลวกงานรุ่นแรก เมื่อวางไข่ครั้งแรกแล้วส่วนท้องของแม่รังตัวใหม่นี้จะขยายใหญ่ขึ้นหลายเท่าจากเดิม เรียกว่า physogastric เพื่อผลิตไข่ให้ได้มากขึ้น แม่รังที่สมบูรณ์จะสามารถวางไข่ได้ 2,000 - 3,000 ฟองต่อวัน ปลวก Macrotermes subhyalinus ในแอฟริกา มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 3.5 ซม. และมีความยาว 14 ซม. สามารถวางไข่ได้ถึง 30,000 ฟองต่อวัน การที่ลำตัวขยายใหญ่มากนี้ ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง ทำให้ต้องมีปลวกงานคอยรับใช้ คอยป้อนอาหาร ทำความสะอาดอยู่หลอดเวลา แม่รังจะปล่อยฟีโรโมนเพื่อควบคุมการทำงานของวรรณะอื่นๆ ทั่วทั้งรัง ให้เกิดการแบ่งงานเป็นสังคมขึ้นมา

   ส่วนปลวกพ่อรังจะมีขนาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากผสมพันธุ์กับปลวกแม่รัง และจะยังผสมพันธุ์ได้อีกหลายครั้งตลอดชีวิต นี่เป็นอีกข้อแตกต่างหนึ่งที่แตกต่างจากสังคมมด เพราะมดตัวผู้จะมีชีวิตได้อีกไม่นานหลังจากผสมพันธุ์และสามารถผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียว

 

วรรณะสืบพันธุ์รอง (primary reproductive caste)

   ประกอบด้วยปลวกที่มีปีกสั้นมาก ตารวมขนาดเล็ก หรือบางทีอาจเป็นปลวกที่ไม่มีปีก มีลำตัวขาวซีด ดูคล้ายปลวกงาน ทำหน้าที่ทดแทนแม่รังในการแพร่พันธุ์


วรรณะปลวกงาน (worker caste)

   ประกอบด้วยปลวกตัวอ่อน และตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน มักไม่มีตารวม กรามมีขนาดเล็ก ไม่มีปีก ลำตัวอ่อนนุ่มขาวซีด มองดูคล้ายมด จึงมีคนเรียกปลวกงานว่า มดขาว (white ants) จัดว่าเป็นวรรณะแรงงานหลักของรัง ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารและป้อนอาหารให้แม่รัง ปลวกทหาร และปลวกตัวอ่อนที่เกิดใหม่ ทำความสะอาดระหว่างปลวกงานด้วยกันเอง ตลอดจนถึงการซ่อมแซมและต่อเติมรังใหม่ ตลอดจนถึงทางเดินภายในรัง รวมถึงการเพาะเลี้ยงราไว้เป็นอาหาร


วรรณะปลวกทหาร (soldier caste)

   ประกอบด้วยปลวกตัวเต็มวัยที่เป็นหมัน ลำตัวใหญ่กว่าปลวกงาน อาจมีหรือไม่มีตารวม หัวกะโหลกเป็นเกราะแข็ง มีกรามขนาดใหญ่ หรือบางทีขยายยาวลักษณะเป็นคีม ใช้ต่อสู้กับผู้รุกราน ปลวกใน วงศ์ย่อย (sub-family Nasutitermitinae) ปลวกทหารสามารถปล่อยของเหลวจากส่วนหัวยื่นยาวคล้ายจมูกหรืองวงใช้ขับไล่ศัตรู หรืออาจมีรูเล็กๆบนส่วนหัวที่เรียกว่า fontanelle ไว้ปล่อยสารขับไล่ศัตรูเช่นกันและลักษะของ fontanelle นี้ยังสามารถพบได้ในวงศ์ Rhinotermitidae อีกด้วย ปลวกทหารบางชนิดมีส่วนหัวที่กลมมน (phragmotic) เพื่อใช้ปิดอุโมงค์ที่แคบเพื่อไม่ให้มดเข้ามารุกรานภายในรัง และเมื่อมีปลวกตัวที่ปิดอุโมงค์เกิดพลาดท่า ปลวกที่คอยเตรียมพร้อมด้านหลังก็จะเข้ามาแทนที่ และเมื่อมีการบุกรุกจากรอยแตกที่ใหญ่เกินกว่าจะใช้ส่วนหัวปิดได้ จะมีปลวกทหารรูปแบบอื่นๆออกมาล้อมรอยแตก แล้วกัดหรือฉีดสารเหนียวออกจากส่วนหัวที่มีลักษณะคล้ายงวง ขณะเดียวกันนั้นปลวกงานก็จะทำการซ่อมแซมรอยแตกเป็นเหตุทำให้ตายเป็นจำนวนมาก เป็นรูปแบบของการสละชีพเพื่อการป้องกันรัง การเคาะส่วนหัวที่แข็งแรงกับพื้นเป็นจังหวะ ในปลวกบางชนิดมีปลวกทหาร 2 ขนาด (dimorphic) คือขนาดเล็กและสามเท่าของขนาดเล็ก เรามักจะพบเห็นปลวกทหารจำนวนมาก คอยคุ้มกันและระวังภัยให้กับปลวกงานที่กำลังออกหาอาหาร ซ่อมแซมหรือขยายรัง การที่มีฟันกรามขยายใหญ่มากนี้ทำให้ไม่สามารถกินอาหารเองได้ ทำให้ต้องคอยการป้อนอาหารจากปลวกงานปลวกมีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์แบบ (Incomplete metamorphosis)


   กล่าวคือเมื่อปลวกฟักออกจากไข่ก็จะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยเพียงแต่มีขนาดเล็กว่า ในปลวกวรรณะสืบพันธุ์ตัวอ่อนจะยังไม่มีปีก และระบบสืบพันธุ์จะยังไม่เจริญสมบูรณ์ ยังไม่สามารสืบพันธุ์ได้ ปลวกตัวตัวอ่อนนี้จะมีการลอกคราบหลายครั้ง และการลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวเต็มวัย